เพื่อนคู่คิดคนซื้อบ้าน-คอนโด รายงานความเคลื่อนไหวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สร้างบ้าน ตามสั่ง กับบริษัทรับสร้างบ้าน



เคยบ้างไหม? เวลาที่เราหาซื้อบ้าน แต่เลือกยังไงก็ยังไม่โดนใจซักที ทำเลก็ยังไม่ใช่ แบบบ้านก็ยังไม่โดนใจ ฟังก์ชั่นก็ยังไม่ตอบโจทย์ รูปร่างหน้าตาก็เหมือนๆ กันไปหมด เพราะทุกวันนี้ โครงการบ้านจัดสรร คือตลาดหลักของคนที่ต้องการหาซื้อบ้าน จึงมีคำถามตามมาว่ายังมี solution อื่นๆ สำหรับคนที่มีความต้องการที่ต่างกันออกไปบ้างไหม

ธุรกิจรับสร้างบ้านจึงเข้าตอบโจทย์ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีทั้งการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วๆ ไป มาออกแบบสร้างให้บนที่ดินที่มีอยู่ แต่ผลที่ได้คือ งบบานปลาย งานที่ได้ไร้คุณภาพ ไม่ตรงตามเวลา บางทีก็ทิ้งงานกันไปเฉยๆ จึงเป็นที่มาของบริษัทที่ให้บริการรับสร้างบ้านขึ้นโดยเฉพาะ ให้บริการแบบมืออาชีพ มีทั้งทีมสถาปนิก วิศวกร ทีมการตลาดให้บริการลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงหลังการอยู่อาศัย

ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามความเชื่อมั่นและการยอมรับของผู้บริโภค ขยายตัวจากมูลค่าตลาดหลักพันล้านเป็นระดับหมื่นล้านบาท เกิดการแข่งขันทั้งในเรื่องของรูปแบบบ้าน ราคา บริการ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคให้ได้ดีที่สุด แต่ละช่วงเวลา จนกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง บ้านที่ตอบโจทย์ ตรงใจได้มากกว่า บ้านจัดสรร ที่มีอยู่ในท้องตลาด ในราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทไปจนถึงหลัก 10 หลัก 100 ล้านบาท

ข้อดีของธุรกิจรับสร้างบ้าน
  • ได้รับบริการจากมืออาชีพ ทั้งสถาปนิก วิศวกร ทีมการตลาด 
  • เลือกแบบที่ถูกใจ ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นได้ตามที่ต้องการ
  • มีสัญญามาตรฐานที่ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
  • ระยะเวลาส่งมอบที่กำหนดชัดเจน
  • งบประมาณไม่บานปลาย

สร้างบ้านโดนใจไร้กังวล ต้องเตรียมตัวอย่างไร
  • เงื่อนไขแรกเลยคือเราต้องมีที่ดินเป็นของตัวเอง แน่นอนว่า การสร้างบ้านบนที่ดินที่มีอยู่ ทำให้ได้อยู่ในพื้นที่หรือทำเลที่คุ้นเคย อยู่ในบริเวณเดียวกับสมาชิกของครอบครัวแบบไทยๆ
  • สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ก็ยังพอมีทางเลือกอื่นๆ เช่น บริษัทรับสร้างบ้านบางแห่งก็มีบริการจัดหาที่ดินให้ หรือจะออกแรงหาซื้อเองก็มีหลายแหล่งให้เลือกซื้อ เช่น แหล่งรวมที่ดินในออนไลน์ สินทรัพย์หลุดจำนองของกรมบังคับคดี หรือสินทรัพย์ NPA ((Non Performing Asset) ของสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น
  • กรณีที่ซื้อที่ดินเองไม่ว่าจะเลือกซื้อจากแหล่งไหน ก็ควรดูที่ดินที่อยู่ในพื้นที่บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่สะดวก เข้าถึงง่าย มีทางเข้าออกที่ชัดเจน ไม่อยู่ในพื้นที่เปลี่ยว และโดดเดี่ยวจนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมด้วยหรือเปล่า เพราะที่ดินที่อยู่ในทำเลที่ดีย่อมมีผลต่อการประเมินสินเชื่อของธนาคารด้วยเช่นกัน
  • วางแผนด้านการเงิน ที่ผ่านๆ คนที่จะปลูกสร้างบ้านเองมักจะต้องมีฐานะ รายได้ที่ดีพอจนไม่จำเป็นต้องกู้ธนาคาร แต่สำหรับคนรายได้ปานกลาง เพิ่งเริ่มสร้างครอบครัว ก็สามารถสร้างบ้านเองได้ เพราะปัจจุบันมีหลายธนาคารให้บริการสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน ด้วยเงินกู้สูงถึง 100% ของค่าก่อสร้าง (กรณีที่มีที่ดินปลอดภาระจำนอง) หรือ 90% ของค่าที่ดินและค่าก่อสร้าง (กรณีขอกู้ซื้อที่ดินมาปลูกสร้างบ้าน) ยิ่งถ้าที่ดินเป็น NPA ของธนาคารเอง ก็จะมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มอีกต่างหาก
  • แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องมีเงินก้อนสักประมาณ 20% ของราคาบ้าน เนื่องจากวงเงินสินเชื่อปล่อยแค่ 90% ของราคาที่ดินและค่าปลูกสร้าง นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อสร้างบ้าน ธนาคารจะทยอยให้ตามสัญญาเงินกู้เป็นงวดๆ ตามความคืบหน้าของการปลูกสร้าง ดังนั้นจึงต้องมีเงินเตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างในงวดแรกก่อน การออมเงินไว้ล่วงหน้าจะทำให้เราคล่องตัวขึ้น
  • เลือกบริษัทที่ดีมีคุณภาพ ดูจากผลงานที่ผ่านๆ มา ทีมงานที่เป็นมืออาชีพ ทั้งสถาปนิก วิศวกรที่มีเพียงพอ ไปจนถึงคนงานก่อสร้างต้องมีทักษะในงานที่ดี เราสามารถเช็คประวัติการทำงานได้ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ หรือเช็คไปที่สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ในกรณีที่บริษัทนั้นๆ เป็นสมาชิกของสมาคม
บริษัทที่ทำธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นจริงเป็นจัง (ไม่ใช่ผู้รับเหมา) ปัจจุบันมีอยู่เป็นร้อยๆ บริษัท แต่ละรายก็พยายามแข่งขันกันด้วยคุณภาพสินค้า และบริการที่ดี ยิ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยเป็นใจแบบนี้ แต่ละรายก็ล้วนแข่งขันกันแย่งชิงลูกค้าด้วยข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากมาย

แต่ถ้าจะพูดถึงบริษัทที่คร่ำหวอดในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน ถือเป็นเจ้าแรก และเป็นเบอร์ต้นๆ ของธุรกิจรับสร้างบ้านเลยก็คือ บริษัท ซีคอน โฮม จำกัด ที่ทำธุรกิจนี้มานานเกือบ 60 ปี จากยอดขายหลัก 10 หลัก 100 ล้านบาท ปีนี้ ซีคอน โฮม ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,600 ล้านบาท เติบโตประมาณ 20% พร้อมกับเปิดกลยุทธ์ใหม่รุกตลาดใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี

มนู ตระกูลวัฒนะกิจ
ซีคอนเปิดแคมเปญ You Dream We Build 
มนู ตระกูลวัฒนะกิจ แม่ทัพใหญ่ ซีคอน โฮม จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี บริษัทจะเน้นชูจุดขาย “You Dream…We Build สร้างได้อย่างที่ฝัน” เพื่อสร้างการรับรู้ที่ดีต่อแบรนด์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมถึงมุ่งเน้นการตลาดออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น

พร้อมกับการนำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อร่นระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ อาทิ การใช้จอแสดงผล Touchscreen ในการนำเสนอแบบบ้าน โดยลูกค้าสามารถเลือกแบบบ้าน พร้อมปรับแบบตามความต้องการได้ในเบื้องต้น หรือในขั้นตอนการคิดมูลค่าของทีมประมาณการราคา ซึ่งช่วยให้ทราบราคาที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแนวคิดที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการที่ดินสำหรับการปลูกสร้างบ้าน โดยได้หารือเบื้องต้นกับบริษัท อีอาร์เอ โบรกเกอร์รายใหญ่ เข้ามาช่วยในเรื่องดังกล่าว แต่เพิ่งเป็นการพูดคุยกันในแนวคิด

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัท ได้ปรับเปลี่ยนการทำตลาดแบรนด์ คอมแพค โฮม  และบัดเจทโฮม ให้ทำตลาดภายใต้แบรนด์ซีคอนโฮมเพียงแบรนด์เดียว เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจรับสร้างบ้านมีขนาดตลาดไม่ใหญ่เหมือนธุรกิจจัดสรร ไม่จำเป็นต้องแบ่งเซ็กเมนต์ย่อย ซึ่งจะทำให้มีค่าการตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับลูกค้าที่สร้างบ้านกับ "คอมแพคโฮม และบัดเจทโฮม" ต่างเข้าใจตรงกันว่าในความจริงแล้วก็คือการสร้างบ้านกับ "ซีคอนโฮม"

ปัจจุบัน ซีคอน โฮม มีแบบบ้านที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคกว่า 200 แบบ ในราคาการก่อสร้างเริ่มต้นที่ 2 ล้านบาท ตอบโจทย์ในทุกความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง Young Generation , First Jobber และกลุ่ม Successor โดยฐานลูกค้าปัจจุบันกว่า 60% นิยมสร้างบ้านที่ระดับราคา 5-6 ล้านบาท ที่เน้นเรื่องการออกแบบ ฟังก์ชั่นการใช้งาน และการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ภายในบ้านที่แตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละครอบครัว

นอกจากนี้ ซีคอน โฮม ยังเป็นบริษัทรับสร้างบ้านรายแรกที่นำเสนอบ้านตัวอย่างที่ปลูกสร้างจริง เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์จริงของฟังก์ชันการใช้งาน และบรรยากาศภายในบ้าน ก่อนการตัดสินใจ ปัจจุบัน    ซีคอน โฮม มีทั้งหมด 5 ศูนย์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับลูกค้า ได้แก่ ซีคอนโฮม ศูนย์สี่พระยา ศูนย์บางแค ศูนย์แจ้งวัฒนะ ศูนย์รามอินทรา ศูนย์ศรีนครินทร์ และมีแผนเปิดสาขาใหม่ที่งามวงศ์วานในปีหน้า



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
เคยทำงานสื่อสารมวลชนสายเศรษฐกิจ อสังหาริมทรัพย์ และการตลาด มายาวนานกว่า 25 ปี กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โพสต์ทูเดย์ และเว็บไซต์ Baania

ติดตามผ่าน Facebook

คลิปวิดีโอน่าสนใจ

ข่าวฮอต

Upgrade 25 ทำเลทั่วกรุงรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า(ตอนที่ 1)

ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จะมี 25 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ที่ได้ถูกปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินอัพเลเวลให้เข้มข้นขึ้น เพ...

ค้นหาบล็อกนี้

Blog Archive

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Translate